ฮ่องกง – เอเชียกำลังพัฒนาจะยังคงรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งได้ในปี 2558 และ 2559 เนื่องจากราคาสินค้าที่ลดต่ำลง และการฟื้นตัวของประเทศอุตสาหกรรมหลัก กล่าวโดยรายงานฉบับล่าสุดของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือ เอดีบี

รายงานการวิเคราะห์เศรษฐกิจเอเชียประจำปี 2558 (Asian Development Outlook 2015) ของเอดีบี ซึ่งเปิดเผยในวันนี้ ได้คาดการณ์ว่าเอเชียจะเติบโตที่ร้อยละ 6.3 ในปี 2558 และ 2559 ซึ่งเป็นการเติบโตเท่ากับปี 2557 ที่ผ่านมา

นายชาง จิน เหวย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบี กล่าวว่า เอเชียกำลังพัฒนาได้มีส่วนช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ราคาสินค้าที่ลดต่ำลงจะทำให้ผู้กำหนดนโยบายทั่วทั้งภูมิภาคมีช่องในการลดการอุดหนุนราคาน้ำมัน หรือริเริ่มการปฏิรูปโครงสร้างอื่นๆ และนี้เป็นโอกาสสำคัญในการสร้างกรอบการสนับสนุนการเติบโตแบบองค์รวมและยั่งยืนมากยิ่งขึ้นในระยะยาว

จากเมื่อวิกฤติทางการเงินโลกในปี 2552 เอเชียกำลังพัฒนาช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจโลกร้อยละ 2.3 ซึ่งคิดเป็นเกือบร้อยละ 60 ของการเติบโตของเศรษฐกิจโลกทั้งหมดที่ร้อยละ 4 เศรษฐกิจในภูมิภาค 8 แห่ง ซึ่งรวมถึง จีน ลาว และศรีลังกา มีการเติบโตเกินร้อยละ 7 ในเกือบทุกๆ ปีหลังวิกฤติการเงิน

การเติบโตของสหรัฐอเมริกานับเป็นประเทศอุตสาหกรรมหลักที่ดูเหมือนจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ ในขณะที่สัญญาณฟื้นตัวจากเขตเศรฐกิจยูโรและญี่ปุ่นยังไม่ชัดเจน ซึ่งราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง และนโยบายการเงินที่สอดคล้องจะช่วยเอื้อต่อการเติบโตได้ โดยรวม เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลักคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 ในปี 2558 โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 จุด จาก 2557 และคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.4 ในปี 2559

เศรษฐกิจอินเดียและทุกประเทศสมาชิกในอาเซียนคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากความต้องการผลผลิตของภูมิภาคจากภายนอกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยรักษาสมดุลจากการค่อยๆ ชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาค

การเติบโตของจีนชะลอตัวลงในปี 2557 จากการลงทุนสินทรพย์ถาวรโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่อ่อนตัวลง  และเนื่องจากรัฐบาลดำเนินนโยบายการปฏิรูปโครงสร้าง การชะลอตัวของการลงทุนที่มากขึ้นคาดว่าจะส่งผลให้การเติบโตลดต่ำลงที่ร้อยละ 7.2 ในปี 2558 และร้อยละ 7 ในปี 2559 โดยอัตราดังกล่าวนับเป็นอัตราที่ชะลอตัวลงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 8.5 ในช่วงตั้งแต่วิกฤติการเงินโลก 

อินเดียคาดว่าจะเติบโตนำหน้าจีน เนื่องจากความพยายามของรัฐบาลในการลดอุปสรรคเชิงโครงสร้างได้เพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน กอรปกับอุปสงค์จากภายนอกที่แข็งแกร่งมากขึ้น คาดว่าอินเดียจะเติบโตที่ร้อยละ 7.8 ในปีงบประมาณ 2558 (สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559) ซึ่งเติบโตจากร้อยละ 7.4 ในปีงบประมาณ 2557 แรงกระตุ้นดังกล่าว รวมทั้งนโยบายการเงินที่คาดว่าจะผ่อนคลายลงและค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่สูงขึ้น อาจส่งผลให้การเติบโตในปีงบประมาณ 2559 สูงถึงร้อยละ 8.2

ความเสี่ยงต่อแนวโน้มทางเศรษฐกิจได้แก่ การดำเนินนโยบายที่อาจผิดจังหวะของจีนในการปรับการเติบโตแบบใหม่เพื่อลดความร้อนแรงลงสู่ระดับปกติ การปฏิรูปของอินเดียที่ไม่สามารถดำเนินการอย่างเด็ดขาดตามที่คาดไว้ ผลกระทบจากวิกฤติหนี้ของกรีซและเศรษฐกิจถดถอยมากกว่าเดิมของรัสเซียที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก อนึ่ง การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาในระยะเวลาอันใกล้นี้อาจทำให้เงินทุนไหลกลับออกจากภูมิภาค ซึ่งต้องมีการตอบสนองนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพื่อรักษาเสถียรภาพไว้ นอกจากนั้น ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงอาจหายไปหากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มสูงขึ้น

สำหรับทั่วทุกอนุภูมิภาค การเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกจะชะลอตัวลงอยู่ที่ร้อยละ 6.5 ในปี 2558 และร้อยละ 6.3 ในปี 2559 ซึ่งสะท้อนการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีน ส่วนในปี 2557 อนุภมิภาคเติบโตที่ร้อยละ 6.6 สำหรับมองโกเลีย คาดว่าการเติบโตจะชะลอตัวลงอย่างรุนแรงในปี 2558 เนื่องจากการลงทุนจากต่างประเทศโดยตรงลดลงและนโยบายการเงินการคลังที่เข้มงวดขึ้น ในขณะที่การเติบโตในไทเปยังคงระดับเดิม แต่เพิ่มมากขึ้นในฮ่องกง และเกาหลี เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศเพิ่มขึ้น และการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก

การเติบโตของเอเชียใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 ในปี 2557 และคาดว่าจะสูงขึ้นที่ร้อยละ 7.2 ในปี 2558 และร้อยละ 7.6 ในปี 2559 ซึ่งสะท้อนการดำเนินเศรษฐกิจที่เข้มแข็งกว่าที่คาดการณ์ไว้ของอินเดีย ตามมาด้วยบังคลาเทศและปากีสถาน ซึ่งมีการปฏิรูปทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง รวมถึงความพยายามในการต่อสู้กับการขาดแคลนพลังงานถึงแม้ว่าปัญหาทางการเมืองอาจทำให้ไม่คืบหน้ามากนักในปี 2558 ส่วนศรีลังกา คาดว่จะเติบโตในระดับปานกลางในปี 2558 เนื่องจากนักลงทุนยังรอความชัดเจนของแผนการบริหารงานใหม่สำหรับการปฏิรูประบบธรรมภิบาลและนโยบายเศรษฐกิจ

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถปรับตัวให้กลับมาเติบโตได้ในปี 2558 หลังจากที่การเติบโตของอนุภูมิภาคลดต่ำลงอยู่ที่ร้อยละ 4.4 ในปี 2557 การเติบโตโดยรวมคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 4.9 ในปี 2558 และร้อยละ 5.3 ในปี 2559 เนื่องจากการฟื้นตัวของอินโดนีเซียและประเทศไทยเป็นหลัก กอรปกับทั้งอนุภูมิภาคจะได้รับประโยชน์จากการส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และเงินเฟ้อที่ต่ำลง

ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงและเศรษฐกิจถดถอยในรัสเซียส่งผลให้การเติบโตในเอเชียกลางลดลงร้อยละ 1.5 จุด มาอยู่ที่ร้อยละ 5.1 ในปี 2557 สำหรับปี 2558 การเติบโตจะชะลอตัวลงในคาซักสถาน เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน เนื่องจากการส่งออกน้ำมันที่ปรับตัวลดลงทำให้การใช้จ่ายภายในประเทศมีข้อจำกัด เศรษฐกิจรัสเซียที่อ่อนแอลงจะเหนี่ยวรั้งการส่งออกและการโอนเงินที่ไม่คล่องตัว ส่งผลให้การเติบโตของอาร์เมเนีย จอร์เจีย คีร์กีซ และทาจิกิสถาน ชะลอตัวลง อนุภูมิภาคโดยรวมคาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 3.5 ในปี 2558 และร้อยละ 4.5 ในปี 2559

อัตราการเติบโตของแปซิฟิกสูงถึงร้อยละ 6.1 ในปี 2557 โดยเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี เนื่องจากการส่งออกก๊าซธรรมชาติในปาปัวนิวกินี ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอนุภูมิภาค ได้เริ่มดำเนินการแล้ว  และเศรษฐกิจอื่นๆ ทั่งทั้งอนุภูมิภาคได้ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ในปี 2558 ซึ่งเป็นปีแรกที่การผลิตก๊าซธรรมชาติในปาปัวนิวกินีจะดำเนินการทั้งปี คาดว่าการเติบโตในแปซิฟิกจะปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 10.7 ก่อนจะปรับตัวลดลงที่ร้อยละ 4.5 ในปี 2559 โดยเศรษฐกิจของเพียงบางประเทศเท่านั้นจะเติบโตเร็วกว่าปีที่ผ่านมา

เอดีบีซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ ณ กรุงมะนิลา ได้อุทิศตนให้กับการลดปัญหาความยากจนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบองค์รวม การเติบโตแบบยั่งยืนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และการบูรณาการทางภูมิภาค เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 และมีสมาชิกทั้งหมด 67 ประเทศ โดย 48 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค 

Media Contact

SHARE THIS PAGE