ฮ่องกง (11 เมษายน 2561) – 25 ปีที่ผ่านมา ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับตลาดแรงงานเอเชียกว่า 2 พันล้านคน ช่วยสร้างงานนับ 30 ล้านตำแหน่งต่อปีในภาคอุตสาหกรรมและบริการ และช่วยเพิ่มศักยภาพแรงงานและค่าจ้างให้สูงขึ้น รวมทั้งช่วยลดปัญหาความยากจน

รายงานการวิเคราะห์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย (Asian Development Outlook : ADO) พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นรายงานหลักทางเศรษฐกิจของธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี ได้รวบรวมบทพิเศษเกี่ยวกับการวิจัยล่าสุดเรื่องผลกระทบของเทคโนโลยีต่อการจ้างงาน โดยชี้ว่า สำหรับภูมิภาคเอเชีย แม้ว่าเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติจะเข้ามาแทนที่งานบางอาชีพ แต่ท้ายที่สุดจะทำให้เกิดการชดเชยจ้างงานในอัตราที่สูงกว่าตำแหน่งงานที่ถูกยกเลิกไป

“การวิจัยล่าสุดของเอดีบีพบว่า ภาพรวมของประเทศในภูมิภาคเอเชียจะประสบความสำเร็จจากการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการทำงาน ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพของแรงงาน ลดค่าใช้จ่ายในการผลิต และเพิ่มความต้องการของการจ้างแรงงาน” นาย Yasuyuki Sawada หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบี กล่าว “เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนจะได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ผู้กำหนดนโยบายต้องมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปการศึกษาซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) ช่วยรักษาความยืดหยุ่นของตลาดแรงงาน ทำให้เกิดระบบความคุ้มครองทางสังคมที่เข้มแข็ง และลดความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้”

การวิจัยยังชี้ว่า ในช่วงที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในหลายๆ ด้าน เช่น วิทยาการหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) แต่ยังมีแนวโน้มในทางบวกต่อการจ้างงานในภูมิภาค เนื่องจากเทคโนโลยีอัตโนมัติสามารถทำงานแทนที่ได้เฉพาะงานบางอย่าง แต่ไม่สามารถทำแทนได้ทั้งหมด นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีอัตโนมัติมาใช้แทนแรงงานจะทำได้ก็ต่อเมื่อเทคโนโลยีดังกล่าวมีเทคนิคและศักยภาพเพียงพอที่จะทดแทนแรงงานได้

ข้อค้นพบที่สำคัญอีกประการคือ ความต้องการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยเพิ่มศักยภาพของแรงงาน จะช่วยสร้างอาชีพใหม่ๆ ซึ่งสามารถชดเชยแรงงานที่ถูกยกเลิกจ้างอันเป็นผลจากเทคโนโลยีได้เช่นกัน เอดีบีได้ทำการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของการจ้างงานใน 12 ประเทศเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ระหว่างปี 2548-2558 พบว่าอุปสงค์การจ้างงานภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าอัตรางานที่ถูกยกเลิกไปจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลวงกว้าง พบว่าจะมีตำแหน่งงานใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายในสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และมีอาชีพใหม่เกิดขึ้นในสาขาสุขภาพ การศึกษา การเงิน ประกันภัย และอสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ดี ในรายงานดังกล่าวยอมรับว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เช่น วิทยาการหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ จะส่งผลกระทบต่อแรงงานทั่วไปที่ไม่ได้ใช้การศึกษาและทักษะในการทำงานผ่านการขยายตัวที่ชะลอลงของค่าจ้างแรงงาน อันจะส่งผลกระทบต่อความไม่เทียมกันทางรายได้ของภูมิภาคที่รุนแรงขึ้น ในขณะที่อาชีพที่ต้องอาศัยทักษะการสังเคราะห์และวิเคราะห์ การปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งต้องอาศัยการศึกษาระดับสูง จะได้รับค่าแรงที่สูงกว่า โดยเอดีบีพบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อาชีพดังกล่าวขยายตัวมากกว่าอัตราการจ้างงานทั่วไปถึงร้อยละ 2.6 และค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงของอาชีพดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับอาชีพทั่วไป

รายงานได้เน้นให้ผู้กำหนดนโยบายเร่งเตรียมรับมือเพื่อให้ประโยชน์ของเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถกระจายสู่ทั้งแรงงานและสังคมในวงกว้าง และต้องเตรียมรองรับความเสี่ยงของแรงงานที่จะถูกกระทบ โดยทำให้แน่ใจว่าแรงงานจะได้รับความคุ้มครองจากผลกระทบเชิงลบของเทคโนโลยี และสามารถคว้าโอกาสใหม่ๆ ได้ ซึ่งอาจทำได้โดยความพยายามร่วมกันในด้านการพัฒนาทักษะ กฏระเบียบของตลาดแรงงาน การคุ้มครองทางสังคม และการกระจายรายได้

เทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยแก้ไขปัญหาที่มีในสาขาต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีการเรียนรู้อย่างปรับตัว (Adaptive learning technology) ซึ่งเป็นวิธีศึกษาที่ใช้ระบบ Algorithm ของคอมพิวเตอร์มาออกแบบการเรียนให้เข้ากับนักเรียนรายบุคคล ช่วยกระตุ้นผลการเรียนรู้จากโรงเรียน ซึ่งรัฐบาลควรสนับสนุนและนำมาใช้ นอกจากนั้น เทคโนโลยีระบุตัวตนจากข้อมูลทางชีวภาพ (Biometric Identification) ช่วยปรับปรุงระบบความคุ้มครองทางสังคมให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการลดค่าใช้จ่าย และแก้ปัญหาความท้าทายระหว่างขั้นตอนดำเนินการในระบบชดเชยการว่างงานที่ซับซ้อน และจัดทำระบบติดตามการบริการจัดหางานต่างๆ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจำเป็นต้องแน่ใจว่าการพัฒนาของเทคโนโลยีจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชากร และต้องปกป้องสิทธิ์และสิทธิส่วนบุคคล เช่น การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไปพร้อมๆ กัน

เอดีบีซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ ณ กรุงมะนิลา ได้อุทิศตนให้กับการลดปัญหาความยากจนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง การเติบโตอย่างยั่งยืนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และการบูรณาการในภูมิภาค เอดีบี ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 67 ประเทศ โดย 48 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค

Media Contact