มะนิลา ฟิลิปินส์ (3 เมษายน 2563) – ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี ได้เปิดเผยรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย (Asian Development Outlook: ADO) ประจำปี 2563 ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียกำลังพัฒนาคาดว่าจะลดต่ำลงอย่างแรงในปี 2563 อันเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัส COVID-19 ก่อนจะกระเตื้องขึ้นในปี 2564  

รายงานฉบับดังกล่าวคาดว่าภูมิภาคจะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ในปี 2563 ซึ่งเป็นการปรับลดลง 3.3 จุดจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 5.5 เมื่อเดือนกันยายน 2562 อย่างไรก็ตาม คาดว่าภูมิภาคจะกลับมาเติบโตได้อีกครั้งที่ร้อยละ 6.2 ในปี 2564 หากการแพร่ระบาดยุติลงและกิจกรรมต่างๆ ดำเนินได้ตามปกติ  ประเทศเอเชียกำลังพัฒนา (ไม่รวม ฮ่องกง เกาหลี สิงคโปร์ ไต้หวัน) คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 2.4 ในปี 2563 เมื่อเทียบกับร้อยละ 5.7 ในปี 2562 ก่อนที่จะกระเตื้องขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 6.7 ในปีหน้า

“การระบาดที่แพร่กระจายไปทั้งโลกส่งผลให้แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกและภูมิภาคมีความไม่แน่นอนสูง โดยอาจเติบโตต่ำกว่าหรือฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ในปัจจุบัน ดังนั้น การร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และลดผลกระทบทางเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะกับกลุ่มเปราะบาง” กล่าวโดยนายาซูยูกิ ซาวาดะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอดีบี    

สำหรับประเทศจีน การหดตัวอย่างหนักของอุตสาหกรรม ภาคบริการ ค้าปลีก และการลงทุนในไตรมาสแรกเนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจจีนลดต่ำลงอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ในปีนี้ และจะกลับมาดีขึ้นกว่าปกติที่ร้อยละ 7.3 ในปี 2564 ก่อนจะเข้าสู่ภาวะปกติ  ส่วนประเทศอินเดีย มาตรการที่ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสและสภาพแวดล้อมของโลกที่อ่อนแอในปีนี้จะทดแทนประโยชน์ที่ได้รับจากการลดอัตราภาษีและการปฏิรูปด้านการเงินในช่วงที่ผ่านมา  โดยเศรษฐกิจอินเดียคาดว่าจะเติบโตช้าลงอยู่ที่ร้อยละ 4 ในปีงบประมาณ 2563 ก่อนจะเติบโตแข็งแกร่งขึ้นในปีงบประมาณถัดไปที่ร้อยละ 6.2

ความอ่อนแอทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียเป็นปัจจัยภายนอกที่บั่นทอนให้เศรษฐกิจในประเทศอุตสาหกรรมหลักอย่างสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยูโรโซน และญี่ปุ่น ถดถอย ผู้ส่งออกสินค้าบางประเภทและน้ำมัน อย่างเช่นในเอเชียกลาง จะได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่ดิ่งลง  ส่วนราคาน้ำมัน Brent คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 35 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล ในปีนี้ ซึ่งลดต่ำลงจากราคา 64 เหรียญสหรัฐต่อบาเรลในปี 2562

การเติบโตของอนุภูมิภาคทั่วทั้งเอเชียจะไม่แข็งแกร่งในปีนี้ เนื่องจากอุปสงค์โลกที่อ่อนตัวลง และการแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมทั้งมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของบางประเทศ อนุภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจเปิดอย่างเช่นเอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออนุภูมิภาคที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักอย่างเช่นแปซิฟิก จะได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยคาดว่าเศรษฐกิจในแปซิฟิกจะหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.3 ในปี 2563 ก่อนจะฟื้นตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ในปี 2564

สำหรับประเทศไทย รายงาน ADO คาดว่าจะได้เศรษฐกิจจะหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -4.8 ในปี 2563 ก่อนจะกระเตื้องขึ้นที่ร้อยละ 2.5 ในปี 2564 โดยการส่งออกและบริการ การท่องเที่ยว การลงทุนภาคเอกชน และความเชื่อมั่นทางธุรกิจจะยังคงมีแนวโน้มลดต่ำลงในปีนี้อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นหลัก ก่อนจะกลับมาดีขึ้นในปี 2564  แต่ความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจที่พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศและการท่องเที่ยว  สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถได้รับประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือที่ช่วยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในรูปแบบการดำเนินธุรกิจได้

บทความพิเศษของรายงานฉบับนี้เป็นการประเมินผลกระทบล่าสุดของการแพร่ระบาด COVID-19 ต่อเศรษฐกิจในประเทศเอเชียที่กำลังพัฒนา และผลกระทบต่อเศรษฐกิจในสาขาต่างๆของแต่ละประเทศ  ความเสียหายของการแพร่ระบาดทั่วโลกคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ถึง 4.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ คิดเป็นความสูญเสียประมาณร้อยละ 2.3 ถึง 4.8 ของ GDP โลก   การคาดการณ์ครั้งล่าสุดนี้ ซึ่งเป็นการปรับปรุงเพิ่มเติมจากรายงานครั้งก่อนที่เผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 6 มีนาคม  ได้สะท้อนถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดการแพร่ระบาดในระดับโลก ทำให้มีการใช้นโยบายการกักกันและการห้ามเดินทางท่องเที่ยวกันทั่วโลก  และได้สะท้อนถึงข้อมูลล่าสุดที่สามารถบ่งชี้ถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดต่อกิจกรรมต่างๆ ในจีน

ทั้งนี้ การคาดการณ์ผลกระทบข้างต้นยังไม่ได้รวมถึงปัจจัยต่างๆ เช่น การหยุดชงักของการผลิต การติดขัดของการโอนเงินระหว่างประเทศ ต้นทุนในการดูแลสุขภาพเร่งด่วน การหยุดชงักของภาคการเงิน และผลกระทบในระยะยาวต่อการศึกษาและเศรษฐกิจ

Media Contact