กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (14 กันยายน 2555) -6 ประเทศสมาชิกของโครงการพัฒนา ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion-GMS) ซึ่งปัจจุบัน กลายมาเป็นตัวอย่างของความเจริญเติบโต การบรรเทาปัญหาความยากจน และการบูรณาการทางเศรษฐกิจ ในระดับภูมิภาค ได้ฉลอง 20 ปีของความสำเร็จของความร่วมมือทางเศรษฐกิจร่วมกันในวันนี้

นาย Stephen Groff รองประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ด้านภูมิภาคเอเชียตะวันออก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก กล่าวว่า "แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ได้เปลี่ยนให้อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกลายเป็นตัวอย่างที่ดีของการบูรณาการทางเศรษฐกิจ และหากประเทศสมาชิกลุ่มแม่น้ำโขงกระชับความร่วมมือระหว่างกันต่อไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็คือคืออนุภูมิภาค ที่บูรณาการ เจริญรุ่งเรือง และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งตั้งอยู่ ณ ใจกลางของทวีปที่มีพลวัตมากที่สุด ของโลก"

ข้าราชการระดับสูง ผู้แทนจากภาคเอกชน และหน่วยงานด้านการพัฒนาจะเข้าร่วมในงานฉลองครบรอบ20 ปี ของโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งจัดขึ้นในวันนี้ที่กรุงมะนิลา โดยจะมีการมองย้อนกลับไปถึงความสำเร็จต่างๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือ GMS พร้อมทั้งหารือร่วมกันเกี่ยวกับแนวโน้มของความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต

ทั้งนี้ ในช่วงเวลา 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โครงการความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้ใช้เงินจำนวน 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับโครงการการพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานภายในอนุภูมิภาค ซึ่งรวมถึงถนน ท่าอากาศยาน เส้นทางรถไฟ โรงไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว และการป้องกันโรคติดต่อ โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ได้ให้การสนับสนุนทางการเงินเป็นมูลค่ากว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อนึ่ง เอดีบีได้ให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง นับตั้งแต่เริ่มจัดตั้งโครงการเมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยเอดีบีได้ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและผู้ประสานงาน ของโครงการ ฯ ไปพร้อม ๆ กับการให้การสนับสนุนทางการเงิน และความช่วยเหลือด้านวิชาการ

ภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ประเทศสมาชิก ฯ ได้มี การวางแผนความร่วมมือด้านการพัฒนาพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานเส้นทางเชื่อมโยงคมนาคม การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน และมีการนำความคิดริเริ่มด้านความร่วมมือด้านการพัฒนาท่องเที่ยวมาใช้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในอนุภูมิภาค การร่วมมือกันป้องกันการแพร่กระจายของโรคติดต่อ และการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ผลของการพัฒนาและความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เหล่านี้ ส่งผลให้อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 6-8 ต่อปี และมีจำนวนประชากรที่อยู่ในข่ายยากจนข่นแค้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเพิ่มขึ้น 3 เท่า

ทั้งนี้ ผู้นำประเทศสมาชิกโครงการพัฒนาเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้เห็นชอบกับ แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงสำหรับ 10 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2555-2565) ระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ 4 เมื่อเดือนธันวาคม 2554 โดยแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือ GMS ฉบับใหม่จะเป็นการต่อยอดความสำเร็จของการพัมนาด้านโครงสร้างพื้นฐานควบคู่ไปกับการเพิ่มความสำคัญด้านความร่วมมือในประเด็นด้านนโยบาย กฏระเบียบข้อบังคับ และพิธีการ ระหว่างกันมากขึ้น เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและส่งเสริมศักยภาพด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมทั้งทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกระจายไปอย่างทั่วถึงและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และเป็นไปอย่างยั่งยืนและคำนึง ถึงสิ่งแวดล้อม ท่ามกลางปัญหาของความเหลื่อมล้ำทางการพัฒนาและรายได้ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น

ความร่วมมือภายใต้แผนยุทธศาสตร์ GMS ฉบับใหม่นี้จะมุ่งเน้นในการพัฒนาพื้นที่และโครงสร้าง พื้นฐานเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบซึ่งสามารถได้รับประโยชน์ จากโอกาสทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ส่งเสริมการพัฒนาเมืองบริเวณระเบียงเศรษฐกิจให้เป็น ศูนย์กลางการพัฒนาแบบบูรณาการ ซึ่งจะขับเคลื่อนการพัฒนาโดยเร่งดำเนินงานโครงการด้านการพัฒนาเมือง และเมืองชายแดน การเชื่อมโยงถนนสายรองเพื่อเข้าถึงและพัฒนาพื้นที่ห่างไกล การพัฒนาการค้าขายไฟฟ้า ระดับภูมิภาค การปฏิบัติตามข้อตกลงด้านการค้าและการขนส่งข้ามพรมแดน ควบคู่กับการกระชับความร่วมมือ ระดับอนุภูมิภาคเกี่ยวกับปัญาหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การกลายเป็นชุมชนเมือง การอพยพ เคลื่อนย้านแรงงาน และการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ แผนงาน GMS ยังมุ่งที่จะเพิ่มปริมาณการลงทุนของภาคเอกชน ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในระดับภูมิภาค รวมถึงการลงทุนในรูปแบบการร่วมทุนระหว่าง ภาครัฐและเอกชน (public-private partnerships ) อีกด้วย

อนึ่ง ประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงประกอบไปด้วย ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์ ประเทศไทย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐประชนจีน (มนฑลยูนนาน และเขตปกครองตนเองกวางสี) อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงมีพื้นที่รวมกันประมาณ 2.3 ล้านตารางกิโลเมตร หรือมีขนาดเทียบเท่าภูมิภาคยุโรปตะวันตก และมีประชากรรวมกันกว่า 320 ล้านคน

Media Contact