มะนิลา-ฟิลิปปินส์ (10 กันยายน 2562) - รายงานของธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ซึ่งจัดทำร่วมกับ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) เปิดเผยว่า รัฐบาลประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเดินหน้าปรับโครงสร้างการบริหารงานและความสามารถเชิงสถาบันให้เข้มแข็ง เพื่อสามารถให้บริการประชาชนได้ดียิ่งขึ้น

รายงาน Government at a Glance: Southeast Asia 2019  จัดทำข้อมูลเชิงเปรียบเทียบระหว่างประเทศ ขั้นตอนการดำเนินงาน และผลของการบริหารงานสาธารณะในภูมิภาค ซึ่งแสดงถึงสิ่งที่ประเทศในอาเซียนกำลังดำเนินการเกี่ยวกับการให้บริการภาครัฐ ได้แก่ การสนับสนุนรัฐบาลดิจิตัล การเพิ่มความโปร่งใส และการสร้างโอกาสในการทำงานของผู้หญิงให้ดีขึ้น 

 รายงานฉบับดังกล่าวคลอบคลุม 34 ตัวชี้วัดจาก 10 ประเทศอาเซียน ประกอบด้วย บรูไน เดลูซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป. ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

“เอดีบีตระหนักว่าการสร้างขีดความสามารถของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ให้เข้มแข็งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการปฏิการทุกอย่าง และเอดีบียังคงมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาของเราในการปรับปรุงการทำหน้าที่บริหารจัดการภาครัฐต่างๆ และการเงินที่มีเสถียรภาพ รวมทั้งสนับสนุนให้การบริการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ ตรงเวลา ปราศจากคคอรัปชั่น และมีประชาชนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น” กล่าวโดยนายบัง บัง ซูซานโตโน รองประธานเอดีบี ด้านการจัดการองค์ความรู้และการพัฒนาแบบยั่งยืน

รายงานโออีซีดีเมื่อเร็วๆ นี้ ได้เน้นความสำคัญของการพัฒนาขีดความสามารถเชิงสถาบันของภาครัฐเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนและผลักดันให้เกิดสังคมที่เท่าเทียม โดยรายงานฉบับดังกล่าวได้แนะนำแนวทางการปฏิรูปภาครัฐและสนับสนุนให้รัฐบาลนำประชาชนมาเป็นศูนย์กลางเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จ

7 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้เริ่มนำระบบยืนยันตัวตนทางดิจิตัล (digital identification) มาใช้แต่มีแค่ 2 ประเทศที่เชื่อมต่อกับระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อย่างสมบูรณ์แล้วเพื่อปรับปรุงการให้บริการและให้สาธารณะเข้าถึงการบริการของภาครัฐได้ง่าย

ความโปร่งใสของงบประมาณ นับเป็นส่วนสำคัญของการเปิดเผยข้อมูลรัฐบาลต่อสาธารณะ ซึ่งจะทำให้ประชาชนทราบว่ารัฐบาลจัดเก็บ จัดสรร และใช้งบประมาณอย่างไร ทั้งนี้ ประเทศอาเซียนทุกประเทศแผยแพร่งบประมาณที่ได้รับอนุมัติแล้วของตน ร้อยละ 80 ของประเทศทั้งหมด ระบุว่าตนได้ผลิตและเผยแพร่วิธีงบประมาณ ซึ่งได้อธิบายวัตถุประสงค์ กระบวนการจัดทำงบประมาณ และการประเมินผลกระทบที่ประชาชนจะได้รับ ในภาษาที่ง่ายเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ อย่างไรก็ตาม  เพียงแค่ร้อยละ 50 ของประเทศเหล่านี้ ที่จัดทำข้อมูลเชิงเศรษฐกิจประกอบการจัดทำงบประมาณ

ทุกประเทศทำงานใกล้ชิดกับภาคเอกชนในการสร้างโครงสร้าพื้นฐานใหม่ๆ ผ่านการลงทุนร่วมกันของภาครัฐและภาคเอกชน (PPP) อย่างไรก็ตาม แค่ครึ่งหนึ่งของประเทศอาเซียนที่ทำการประเมินว่าการลงทุนแบบ PPP มีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้ระบบจัดซื้อจัดจ้างแบบดั่งเดิมหรือไม่ รายงานฉบับนี้แนะนำให้มีการวิเคราะห์และประเมินให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลในการพัฒนาการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น

รายงานฉบับนี้ยังพบว่าผู้หญิงอาเซียนมีอัตราส่วนในการทำงานภาครัฐที่ดี ถึงแม้จะมีอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถขึ้นถึงตำแหน่งสูงในหน่วยงานได้ ในปี 2559 เกือบครึ่ง (ร้อยละ 47) ของตำแหน่งงานในหน่วยงานภาครัฐของประเทศอาเซียนเป็นผู้หญิง ในขณะที่สัดส่วนของประเทศโออีซีดีมีเพียงร้อยละ 28 นอกจากนั้น โดยเฉลี่ยเมื่อปี 2561  ผู้หญิงในประเทศอาเซียนมีตำแหน่งในรัฐสภาร้อยละ 20 และเพียงร้อยละ 1.7 ที่มีตำแหน่งสูงกว่าเดิมเมื่อเทียบกับปี 2551 

ในส่วนของไทย รายงานระบุว่าประชาชนพอใจกับระบบการดูแลสุขภาพและระบบการศึกษาของประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยในปี 2560 ความพึงพอใจของประชาชนไทยต่อระบบการศึกษาอยู่ที่ร้อยละ 86 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศอาเซียนที่ร้อยละ 82.9 และค่าเฉลี่ยของโออีซีดี ที่ร้อยละ 68.4 ส่วนความพึงพอใจของประชาชนไทยต่อระบบการดูแลสุขภาพในปีเดียวกันอยู่ที่ร้อยละ 84 สูงเป็นอันดับสองในอาเซียน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 78.8  ส่วนการบริหารจัดการข้าราชการพลเรือนทำได้ดีและมีประสิทธิภาพเช่นกัน ในขณะที่ยุทธศาสตร์การพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยนั้นครอบคลุม แต่ขาดแผนปฏิบัติงานร่วมกัน

“รายงานฉบับนี้เป็นการบูรณาการความเชี่ยวชาญของโออีซีดีในการเก็บข้อมูล ประมวลผล วิเคราะห์ข้อมูลการบริหารงานภาครัฐ เข้ากับองค์ความรู้และประสบการณ์ในการบริหารงานและการจัดการภาครัฐของเอดีบีในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเข้าด้วยกัน” นายมาร์คอส บงตูรี ผู้อำนวยการการบริหารงานภาครัฐของโออีซีดีกล่าว ทั้งนี้ โออีซีดีได้จัดทำรายงานคล้ายๆ กันนี้ในภูมิภาคลาติน อเมริการ และแคริเบียน อีกด้วย

Media Contact