มะนิลา ฟิลิปินส์ (14 กรกฎาคม 2560) – ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือ เอดีบี ร่วมกับ สถาบันโพสต์ดามพ์เพื่อการวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Potsdam Institute for Climate Impact Research : PIK) ได้จัดทำรายงานเรื่อง “A Region at Risk: The Human Dimensions of Climate Change in Asia and the Pacific.” โดยในรายงานระบุว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่กระเตื้องขึ้น อาจจะนำความเสียหายมาสู่ประเทศในเอเชียและแปซิฟิก และอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตในอนาคต ผลการพัฒนาที่เดินถอยหลัง และคุณภาพชีวิตที่ลดต่ำลง

รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุว่า ภายใต้การดำเนินธุรกิจแบบปัจจุบัน คาดว่าอุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้น 6 องศาเซลเซียส ทั่วทั้งภูมิภาคพื้นดินของเอเชียภายในสิ้นศตวรรษนี้ บางประเทศในภูมิภาค เช่น ทาจิกิซสถาน อัฟกานิซสถาน ปากีสถาน และภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน อาจจะเผชิญกับอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างรุนแรงถึง 8 องศาเซลเซียส

อุณหภูมิที่สูงขึ้นจะนำการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงมาสู่ภูมิภาค ทั้งสภาพอากาศ การเกษตร การประมง ความหลากหลายทางชีวภาพทางพื้นดินและทางทะเล ความมั่นคงในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค การค้า การพัฒนาเมือง การอพยพเคลื่อนย้าย และการสาธารณสุข ปรากฎการณ์ดังกล่าวอาจเป็นภัยคุกคามสำหรับบางประเทศในภูมิภาคและอาจส่งผลต่อความสำเร็จในการพัฒนาแบบองค์รวมและยั่งยืน

“วิกฤติสภาพภูมิอากาศโลก ถือเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่มวลมนุษยชาติเผชิญในศตวรรษที่ 21 โดยมีภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกเป็นศูนย์กลางของวิกฤติดังกล่าว” กล่าวโดยนายบังบัง ซูซานโตโน รองประธานเอดีบี “ประเทศในเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งเป็นบ้านของผู้ยากไร้ 2 ใน 3 ของโลก และนับเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่อ่อนไหวที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีความเสี่ยงสูงสุดต่อความยากจนและหายนะที่รุนแรงขึ้นหากไม่พยายามบรรเทาและปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและแข็งขัน

“ประเทศในเอเชียได้ถืออนาคตของโลกอยู่ในมือ หากประเทศเหล่านั้นเลือกที่จะป้องกันตนเองจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อันตราย ก็จะเป็นการช่วยให้ทั้งโลกปลอดภัยไปด้วย” กล่าวโดย Professor Hans Joachim Schellnhuber ผู้อำนวยการของ PIK “ความท้าทายจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ในทางหนึ่ง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องลดลงจนประชาคมโลกสามารถจำกัดอุณหภูมิที่จะเพิ่มขึ้นได้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ตามที่ตกลง ณ กรุงปารีสในปี 2015 แต่การทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเพียงแค่ 1.5 องศาเซลเซียสก็นับเป็นงานใหญ่แล้ว อีกทางหนึ่ง ประเทศในเอเชียต้องหายุทธศาสตร์เพื่อให้มั่นใจว่าความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงรวมทั้งการพัฒนาของโลกยังคงอยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่าการปฏิวัติไปสู่อุตสากรรมสะอาดจะเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจในเอเชียอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และการหายุทธศาสตร์ที่ดีที่สุดเพื่อรองรับภาวะตื่นตระหนกจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมจะทำให้เอเชียกลายเป็นภูมิภาคที่มีบทบาทหลักในเวทีพหุภาคีต่างๆ ในศตวรรษที่ 21

ใต้ฝุ่นและไซโคลนคาดว่าจะเข้าโจมตีเอเชียและแปซิฟิกมากขึ้นท่ามกลางอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ฝนและหิมะคาดว่าจะตกเพิ่มมากขึ้นกว่าร้อยละ 50 ทั่วทั้งพื้นดินในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม บางประเทศ เช่น ปากีสถาน และอัฟกานิสสถาน อาจเผชิญกับฝนที่ตกน้อยลงร้อยละ 20-50

พื้นที่ชายฝั่งหรือที่ราบลุ่มในภูมิภาคจะมีความเสี่ยงจากน้ำท่วมเพิ่มมากขึ้น 19 จาก 25 เมืองในภูมิภาคจะเผชิญกับระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 1 เมตร และใน 19 เมืองดังกล่าว 7 เมืองจะอยู่ในฟิลิปินส์ อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในภูมิภาค โดยจนถึงปี 2100 คาดว่าจะมีประชากรจำนวน 5.9 ล้านคนจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมตามแนวชายฝั่งทุกปี

ความอ่อนไหวจากน้ำท่วมและหายนะอื่นๆที่เพิ่มขึ้นจะส่งกระทบอย่างมีนัยยสำคัญในเชิงเศรษฐกิจต่อภูมิภาคและโลก ความเสียหายจากน้ำท่วมทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นจาก 6 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2005 เป็น 52 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปีภายในปี 2050 นอกจากนั้น 13 จาก 20 เมืองใหญ่ที่คาดว่าจะเกิดความเสียหายจากน้ำท่วมประจำปีมากที่สุดในช่วงปี 2005-2050 อยู่ในเอเชียและแปซิฟิก ได้แก่ กวางโจ่ว เซินเจิ้น จ้างเจียง เซี่ยเหมิน (จีน) มุมไบ เจนไน-มัทราส สุรัต และคัลคัตตา (อินเดีย) โอจิมินท์ ซิตี้ (เวียดนาม) จาการ์ตา (อินโดนีเซีย) กรุงเทพ (ไทย) และนาโกยา (ญี่ปุ่น)

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้การผลิตอาหารในภูมิภาคยากลำบากมากขึ้นในขณะที่ราคาผลผลิตจะเพิ่มสูงขึ้น ผลตอบแทนจากการเพาะปลูกข้าวในบางประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจจะลดต่ำลงถึงร้อยละ 50 ภายในปี 2100 หากไม่มีความพยายามในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว พืชผลเกือบทั้งหมดของอุเบกิซสถานคาดว่าจะลดลงประมาณร้อยละ 20-50 ภายในปี 2050 แม้ว่าจะสามารถจำกัดการเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิได้ที่ 2 องศาเซลเซียสตามข้อตกลง ณ กรุงปารีส การขาดแคลนอาหารอาจจะทำให้จำนวนเด็กขาดสารอาหารเพิ่มมากขึ้นในเอเชียใต้ถึง 7 ล้านคน เนื่องจากต้นทุนอาหารนำเข้ามีแนวโน้มสูงขึ้นในอนุภูมิภาคถึง 15 พันล้านเหรียญต่อปี ภายในปี 2050 เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนต่อปีที่ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ภายในปี 2100 ระบบนิเวศทางน้ำ โดยเฉพาะในแปซิฟิกตะวันตก จะตกอยู่ในภาวะอันตราย ระบบปะการังในอนุภูมิภาคจะเสียหายจากการฟอกขาว (coral bleaching) หากโลกร้อนเพิ่มขึ้นถึง 4 องศาเซลเซียส (ภายใต้การดำเนินธุรกิจแบบปัจจุบัน) และถึงแม้ว่าจะสามารถคุมอุณหภูมิให้เพิ่มขึ้นได้เพียง 1.5 องศาเซลเซียส คาดว่าปะการังร้อยละ 89 จะประสบภาวะฟอกขาวเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลรุนแรงต่อปะการังที่เกี่ยวเนื่องกับการประมงและการท่องเที่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศยังส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชากรในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ปัจจุบัน ในทุกๆ ปีมีประชากรกว่า 3.3 ล้านคนเสียชีวิตอันเนื่องมาจากผลกระทบที่เป็นอันตรายจากมลพิษทางอากาศ โดยจีน อินเดีย ปากีสถาน และบังคลาเทศ เป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุดังกล่าวมากที่สุด 4 อันดับแรก นอกจากนี้ ตามรายงานขององค์การอนามัยโลกยังระบุว่า จำนวนผู้สูงอายุที่อาจเสียชีวิตจากความร้อนที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคอันเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 52,000 ราย ภายในปี 2050 นอกจากนั้น สาเหตุการตายด้วยโรคที่มีแมลงเป็นพาหะ เช่น มาลาเลีย และไข้เลือดออก คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

การดำเนินธุรกิจแบบปัจจุบันซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำลายการทำงานของระบบนิเวศและประโยชน์ที่ได้รับจากระบบนิเวศ (ecosystem services) ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการอพยพเข้าสู่เขตชุมชนเมืองจำนวนมากและก่อให้เกิดความหนาแน่นในตัวเมือง รวมทั้งการบริการสังคมที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ

นอกจากนี้ อุณหภูมิที่สูงขึ้นในภูมิภาคอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการจัดหาแหล่งพลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ความไม่มั่นคงด้านพลังงานเพิ่มสูงขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น การพึ่งพาพลังงานถ่านหินมากเกินไป โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนมีความสามารถในการผลิตด้อยลงเพราะขาดแคลนน้ำหล่อเย็นที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า และการทำงานอย่างไม่สม่ำเสมอของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำที่เกิดจากความไม่แน่นอนในการปล่อยกระแสน้ำ นอกจากนี้ ความไม่มั่นคงด้านพลังงานอาจทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศที่แข่งขันกันเพื่อครอบครองแหล่งพลังงานที่มีอย่างจำกัดอีกด้วย

เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รายงานฉบับนี้จึงได้เน้นถึงความสำคัญของการดำเนินการตามข้อพันธสัญญาที่ปรากฏในข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งหมายถึงการที่ภาครัฐและเอกชนต้องเน้นการลงทุนในโครงการที่ลดการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ (decarbonization) อย่างรวดเร็วในเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย และการดำเนินมาตรการปรับตัวเพื่อปกป้องกลุ่มประชากรที่อ่อนไหวที่สุดของภูมิภาค ทั้งนี้ การลดภาวะโลกร้อนและความพยายามในการปรับตัวเหล่านี้ควรเป็นแนวทางหลักในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับมหภาคและแผนโครงการระดับจุลภาคสำหรับทุกภาคส่วน นอกเหนือจากโครงการพลังงานทดแทนและการมีนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในภาคโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่งในเขตเมืองที่กำลังดำเนินการอยู่ รายงานยังได้สรุปว่า ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกมีศักยภาพและอิทธิพลในการขับเคลื่อนให้ภูมิภาคก้าวเข้าสู่แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยับยั้งภาวะโลกร้อน และสนับสนุนการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน

เอดีบีได้อนุมัติเงินจำนวน 3.7 พันล้านเหรียญหรัฐ ในการสนับสนุนเงินทุนแก่สาขาภูมิอากาศในปี 2016 และจะเพิ่มวงเงินลงทุนเป็น 6 พันล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2020

เอดีบีซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ ณ กรุงมะนิลา ได้อุทิศตนให้กับการลดปัญหาความยากจนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง การเติบโตแบบยั่งยืนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และการบูรณาการทางภูมิภาค เอดีบีได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1966 ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 67 ประเทศ โดย 48 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค ในปี 2016 เอดีบีจัดสรรวงเงินสำหรับความช่วยเหลือทางวิชาการเป็นเงิน 31.7 พันล้านเหรียฐสหรัฐ โดย 14 พันล้านเหรียญสหรัฐเป็นวงเงินให้กู้ร่วม

คลิกที่นี่เพื่อติดตามการถ่ายทอดสดงานแถลงข่าว และติดตามการอภิปรายหัวข้อดังกล่าวได้ในสื่อสังคมออนไลน์ ผ่าน #AsiaHeatsUp

Media Contact