ยุทธศาสตร์ 2030 จัดทำขึ้นเพื่อให้เอดีบีสามารถตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่บนแปลงไปของเอเชียและแปซิฟิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ บนพื้นฐานการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่เข้มแข็งมากว่า 50 ปี เอดีบี จะยังคงมุ่งมั่นที่จะช่วยขจัดความยากไร้ให้หมดไปจากภูมิภาค และจะเดินหน้าทำงานต่อไปเพื่อให้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความเจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน
ท่านสามารถเรียนรู้ทิศทางยุทธศาสตร์ 2030 ของเอดีบีเพิ่มเติมได้จากวีดีโอนี้
Transcript
ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด
สัดส่วน GDP รวมของภูมิภาคต่อ GDP โลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วส่งผลให้ปัญหาความยากจนในภูมิภาคลดลงอย่างมหาศาล
อย่างไรก็ตาม ยังมีประชากรจำนวนมากที่ยังเผชิญกับความยากจน ท่ามกลางปัญหาความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มมากขึ้น
ความเสี่ยงจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความตึงเครียดด้านสิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติกำลังเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
เทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (A.I.) และวิทยาการหุ่นยนต์ มีการเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และการใช้ประโยชน์จากการพัฒนาทางเทคโนโลยีกลายมาเป็นความท้าทายสำหรับภูมิภาค
หลายประเทศกำลังเข้าสู่ยุคสังคมสูงอายุอย่างรวดเร็ว
ในขณะที่บางประเทศมีประชากรเด็กและเยาวชนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย
ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้พัฒนายุทธศาสตร์ระดับองค์กรฉบับใหม่ หรือ ‘ยุทธศาสตร์ 2030’ เพื่อเป็นแนวทางรับมือต่อความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
บนพื้นฐานการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่เข้มแข็งมากว่า 50 ปี ADB จะยังคงมุ่งมั่นช่วยเหลือเพื่อขจัดความยากไร้ให้หมดไปจากภูมิภาค
เราจะทำงานเพื่อภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่อไป
เพื่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง (prosperous) โดยที่ประเทศต่างๆ มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคง และประชาชนได้รับโอกาสที่ดีกว่า
เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาและโอกาสอย่างทั่วถึง (inclusive)
เพื่อให้ประเทศและกลุ่มประชากรอ่อนไหวมีความพร้อมที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ (resilient) โดยเฉพาะผลกระทบจากวิกฤต
และให้เกิดความยั่งยืน (sustainable) ในแง่ของความสมดุลย์ระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
ยุทธศาสตร์ 2030 มีความสอดคล้องกับข้อตกลงร่วมกันในประเด็นการพัฒนาหลักๆ ซึ่งทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ
แต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำ เมื่อภูมิภาคยังคงต้องการเงินทุนถึง 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ระหว่างปีค.ศ. 2016 – 2030 สำหรับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับภูมิภาค
เอดีบีจะยังคงเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่เชื่อถือได้ของประเทศสมาชิกกำลังพัฒนา โดยสร้างมูลค่าผ่านการสนับสนุนทางการเงิน องค์ความรู้ และการเป็นหุ้นส่วน
เราจะนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาแบบบูรณาการและใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศสมาชิก
ในขณะที่ภูมิภาคกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง ประเทศต่างๆ ก็กำลังเปลี่ยนแปลงในบริบทที่แตกต่างกันไป
เอดีบีจะจัดหาแนวทางแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับความต้องการและความท้าทายในการพัฒนาของแต่ละประเทศโดยเฉพาะ และทุกครั้ง เราจะทำให้แน่ใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้มากที่สุด
เอดีบีจะให้ความสำคัญกับสาขาที่มีความสำคัญ 7 อันดับแรก ได้แก่
- การขจัดปัญหาความยากจนและความไม่เท่าเทียมกัน
- การสนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศในทุกกระบวนการการดำเนินงานของเอดีบี
- การต่อสู้กับภัยพิบัติ โดยใช้มาตรการการรับมือและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เข้มแข็งและเร่งด่วน พร้อมกับสนับสนุนให้เกิดความยั่นยืนทางสิ่งแวดล้อม
- การปรับปรุงเมืองให้น่าอยู่อาศัยมากขึ้น
- การสนับสนุนการพัฒนาชนบทและความปลอดภัยทางอาหาร
- การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบธรรมาภิบาลและสถาบัน
- และการส่งเสริมความร่วมมือและการบูรณาการระดับภูมิภาค
เอดีบีจะนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาสำหรับประเด็นการพัฒนาเหล่านี้ โดยผสมผสานความชำนาญหลากหลายสาขาและหัวข้อการพัฒนาเข้าด้วยกัน
เราจะขยายสัดส่วนการดำเนินงานภาคเอกชน ในขณะที่ยังคงให้ความสำคัญกับผลกระทบจากการพัฒนา
เราจะร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ ในการจัดสรรเงินทุนและองค์ความรู้เพื่อสนับสนุนประเทศสมาชิกให้ดียิ่งขึ้น
เราจะปรับปรุงการดำเนินงานขององค์กร เพื่อให้เข้มแข็งขึ้น ดีขึ้น และรวดเร็วยิ่งขึ้น
มาร่วมมือกันเพื่อให้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเกิดความเจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน